- โครงการจัดงานประเพณีทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2561
โครงการจัดงานประเพณีทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๑ วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๑ ณ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอภูเวียง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น โดย เทศบาลตำบลภูเวียง
วันขึ้นปีใหม่ ในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว ๔ ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม
๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ ๒ กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน ๒ ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๒ เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ ๑ เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไร
มากนักสมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๗ ขึ้นในกรุงเทพ ฯเป็นครั้งแรก การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อ ๆ มา และในปี พ.ศ.๒๔๗๙ ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ ๑ เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า
วันตรุษสงกรานต์ ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๔ เป็นวันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ ๑ เมษายนมาเป็นวันที่ ๑ มกราคม ก็คือ
๑. ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
๒. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
๓. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
๔. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่
๑) การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
๒) การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
๓) การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่าง ๆ
วัตถุประสงค์
๑) เพื่อให้มีการทำบุญตักบาตร ถวายอาหาร เครื่องไทยธรรม แก่พระสงฆ์ ในวันขึ้นปีใหม่
๒) เพื่อเป็นการส่งเสริม สืบสาน และอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่มีมาแต่โบราณให้ยังคงอยู่กับคนไทยตลอดไป
๓) เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดี ส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกันตลอดจนการร่วมแรง ร่วมใจ ของหน่วยงานต่าง ๆ และภาคประชาชน
๔) เพื่อปลูกฝังขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้แก่ เด็ก เยาวชน คนหนุ่มสาว และประชาชนในชุมชน
๕) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้มีการเรียนรู้ ซึมซับด้านวัฒนธรรมประเพณี ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางด้านการเรียน
๖) เพื่อเสริมสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในครอบครัว โดยที่ทุกคนมีกิจกรรมร่วมกันและนำไปสู่ความเป็นชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน
๗) เพื่อกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกในสังคมและชุมชนตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของประเพณีท้องถิ่น
เป้าหมาย
ผู้นำชุมชน เด็ก เยาวชน ประชาชน ข้าราชการ นักเรียน นิสิตนักศึกษา พ่อค้า ผู้นำชุมชน กลุ่มสตรี องค์กรภาครัฐและเอกชน คณะกรรมการชุมชนและประชาชนทั่วไปทั้งในพื้นที่อำเภอภูเวียงและใกล้เคียงได้เข้าโครงการจัดงานประเพณีทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๑